ANALYTICAL SERVICES
LECTURE MATERIALS
FIND US ON FACEBOOK

ประสบการณ์การไปทำวิจัยที่ต่างประเทศของนักเรียนทุน คปก. ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

ประสบการณ์การไปทำวิจัยที่ต่างประเทศของ “นส.หนึ่งเมษา เคล้าจันทร์พงษ์” ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

หนึ่งในโอกาสของนักเรียนทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก หรือ ทุนคปก. จะได้รับ ก็คือ การไปเดินทางไปศึกษาวิจัยในต่างประเทศจากผู้เชียวชาญในด้านนั้นๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 6  เดือน และเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม  2559  ดิฉันได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัย Wageningen เมือง Wageningen  ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อทำวิจัยในหัวข้อเรื่อง Rheological properties of debranched waxy corn starch gel and lotion containing the debranched starch ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหัวข้อวิทยานิพนธ์เรื่อง Chemical modification of debranched waxy starch  ซึ่งหัวข้อที่ไปทำที่ต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยากสำหรับดิฉันเพราะไม่เคยทำมาก่อน ดิฉันจึงขอเล่าถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างแดน ซึ่งอาจเป็นประโยชน์หรือแนวทางแก่ผู้ที่สนใจพอสมควร

อ  130528_Orion_178

เริ่มต้นจากการติดต่อกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในด้าน Rheology  ก็คือ Assoc. Prof. Dr. Leonard Sagis ซึ่งอยู่ในภาควิชา Food Physics มหาวิทยาลัย Wageningen โดยเขียนเล่าเรื่องงานวิจัยที่กำลังศึกษา ปัญหาและที่มา ตลอดจนการวางแผนการทำวิจัยที่จะไปทำที่ต่างประเทศเป็นเวลา 6 เดือน ภายใต้การสนับสนุนจาก ทุน คปก. ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด จนในที่สุดก็ได้รับการตอบรับ หลังจากนั้นดิฉันได้ดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การยื่นขอวีซ่า ทำประกันการเดินทาง ซื้อตั๋วเครื่องบิน การหาที่พัก ฯลฯ ซึ่งทางมหาวิทยาลัย Wageningen จะช่วยจัดการเรื่องการยื่นขอวีซ่า และการหาที่พักให้ แต่ด้วยความโชคดีที่เมืองนี้เป็นเมืองที่มีนักเรียนคนไทยไปศึกษาเล่าเรียนกันอยู่เยอะมาก เรียกได้ว่า มากที่สุดในเนเธอร์แลนด์ก็ว่าได้ ดิฉันรู้จักกลุ่มนักเรียนเหล่านี้จากการค้นหาใน Google ทำให้ได้รับคำแนะนำ และหาที่พักให้จึงไม่ต้องให้มหาลัยช่วยหา ดิฉันเช่าห้องต่อจากนักศึกษาจีนคนหนึ่งอีกที ซึ่งเธอได้ไปทำวิจัยที่ประเทศอื่นเช่นเดียวกัน โดยราคาจะถูกกว่าที่มหาวิทยาลัยฯ หาให้ เมื่อวันเดินทางมาถึง ดิฉันเดินทางด้วยสายการบิน Emirate จะต้องไปต่อเครื่องที่ Dubai ก่อนจะไปสู่เมือง Amsterdam เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ และเป็นเมืองที่ใกล้ที่สุด ที่จะเดินทางโดยรถไฟต่อไปยังเมือง Wageningen (สายการบิน KLM สามารถบินตรงจากกรุงเทพสู่ Amsterdam)

03  05

เมือง Wageningen เป็นเมืองที่ค่อนข้างเงียบสงบ เพราะช่วงที่ไปเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนพอดี อุดมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม การเดินทางสัญจรของผู้คนในเมืองนี้จะใช้ “จักรยาน” ส่วนรถยนต์รวมทั้งมอเตอร์ไซด์ในเมืองนี้มีน้อยมากถ้าเทียบกับเมืองหลวงและกรุงเทพบ้านเรา  นอกจากนี้การเดินทางไปเที่ยวยังเมืองใกล้เคียงหรือเข้าเมืองหลวง รถไฟจะเป็นที่นิยมมากที่สุด รองลงมาคือรสบัส ซึ่งระบบการคมนาคมสาธารณะของที่นี่จะตรงเวลามาก มีตารางเวลาแน่นอน สามารถวางแผนการเดินทางได้ง่าย จะเกิดความล่าช้าน้อยมาก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีคนฆ่าตัวตายโดยกระโดดเข้าหารถไฟที่กำลังแล่นด้วยความเร็ว (วิธีที่นิยมที่สุดในการฆ่าตัวตายของคนประเทศนี้) ดังที่กล่าวไปแล้วว่าจักรยาน เป็นสิ่งสำคัญในการใช้เดินทางสำหรับที่นี่ แน่นอนดิฉันจะต้องมีจักรยานประจำตำแหน่งอย่างน้อย 1 คัน ซึ่งหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง ก็คือ จักรยานมือสองจนถึงมือสิบ หาซื้อจากร้านขายจักรยานและขายออนไลน์ผ่านเว็บไซด์หรือ Facebook เมื่อต้องใช้จักรยาน ก็ต้องบำรุงซ่อมแซมอยู่เสมอ เราควรจะต้องซ่อมเองได้ในอาการเบื้องต้น เช่น ปะยาง ใส่โซ่ ซ่อมเบรก เพราะในการซ่อมจักรยานโดยช่างซ่อมนั้น มีราคาค่อนข้างแพง และไม่สะดวกเอามากๆ จะเปิดซ่อมสัปดาห์ละ 1 วันเท่านั้น และในการขี่จักรยานในเวลากลางคืนจะต้องมีไฟส่องสว่างสำหรับจักรยานทุกคัน ถือเป็นกฎหมายที่เคร่งครัด

0521bfe1-14b7-482b-a2fc-dea4ad55cbf1_900_25_wur_1285 01

มาถึงเรื่องที่พักอาศัย ดิฉันเช่าห้องอยู่ในอพาร์ทเมนท์ที่อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัย เป็นห้องที่ใช้ห้องน้ำรวมกับนักเรียนคนอื่นๆ หลากหลายชนชาติ โดยใน 1 ชั้นจะมี 3 คอริดอร์ ใน 1 คอริดอร์จะมีประมาณ 10 ห้องนอน มีห้องสุขา และห้องอาบน้ำ อย่างละ 2 ห้อง ห้องครัวที่มีอุปกรณ์ทำครัว เครื่องใช้ไฟฟ้าครบชุด จำนวน 1 ห้อง และจะมีการจัดเวรกันทำความสะอาดในส่วนต่างๆ ภายในคอริดอร์ด้วย การทำความสะอาดคอริดอร์นี้มีค่าตอบแทนให้ด้วยไม่ได้ทำฟรีๆ การอยู่แบบต้องใช้ห้องน้ำรวม ห้องครัวรวม ในช่วงแรกๆ อาจจะรู้สึกแปลกๆ แต่จะเริ่มชินในเวลาไม่นาน เพราะเราจะเจอเพื่อนร่วมคอริดอร์เข้ามาทำอาหารในเวลาเดียวกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ได้ชิมอาหารประจำชาติอื่นๆ ถือเป็นข้อดีในการใช้ห้องครัวร่วมกัน ซึ่งจะหามิได้ถ้าพักอยู่ห้องที่มีห้องน้ำและครัวในตัวและมีราคาแพงกว่าด้วย สำหรับห้องที่มีห้องน้ำและที่ทำครัวในตัวก็มีข้อดีสำหรับผู้ที่ชอบความเป็นส่วนตัว สะดวกสบาย และอิสระมากกว่า ต่อเนื่องมาถึงด้านอาหารการกิน ส่วนใหญ่จะทำอาหารเองมากกว่าซื้อทานข้างนอกเพราะประหยัดมากกว่า โดยจะซื้อวัตถุดิบต่างๆ จากซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน รวมถึงตลาดและร้านขายวัตถุดิบเอเชียที่อยู่ในเมืองด้วยซึ่งมีราคาไม่แพง อาหารที่ทำส่วนใหญ่ก็อาหารไทยที่เราทานที่ประเทศไทยนั่นแหละ หากไม่ถนัดทำอาหาร ก็ไม่ต้องห่วง ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตมีอาหารสำเร็จรูปมากมาย เข้าไมโครเวฟก็รับประทานได้เลย แต่อาจจะไม่ถูกปากมากนัก จากที่กล่าวมาแล้วว่าที่เมืองนี้มีนักเรียนไทยอาศัยอยู่เยอะ เรื่องอาหารจึงอุดมสมบูรณ์มาก ไม่ขาดแคลนอาหารไทย หรือรสชาติไทยๆ เพราะจะมีการรวมตัวทานอาหารกันของสังคมนักเรียนไทยกันแทบทุกวันไปจนถึงทุกมื้อ มีการแชร์อาหารไปทานด้วยกัน ถือว่าเป็นการฝึกทักษะการทำอาหารของตัวเองอีกด้วย

09 08

กลับมาในเรื่องของวิชาการกันบ้าง ในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่เข้าที่พักเรียบร้อย ดิฉันได้เข้าพบ Dr. Leonard เพื่อปรึกษาถึงแนวทางและวิธีการทำวิจัยในหัวข้อที่ได้เสนอไป ซึ่ง Dr. Leonard ได้อธิบายทฤษฎีของ Rheology คร่าวๆ และมีนักเทคนิค ประจำห้องปฏิบัติการ Food Physics คอยดูแลเรื่องการทำแล็ป ที่เก็บสารเคมี อุปกรณ์เครื่องแก้ว การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆที่ต้องใช้ในงานวิจัยอย่างละเอียด ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรกจะเป็นการเรียนรู้เรื่องการทำแลป วิธีการใช้เครื่อง Rheometer การอบรมความปลอดภัยในการทำงานในห้องปฏิบัติการ และศึกษาทฤษฎี Rheology ซึ่งเทคนิคการใช้ Rheometer และการแปลผลที่ได้จากเครื่อง เป็นเทคนิคที่ดิฉันเพิ่งได้เรียนรู้เป็นครั้งแรก ก็ทดลองผิดบ้างถูกบ้าง ใช้เวลาเรียนรู้ซักพักหนึ่ง ก่อนที่จะเริ่มทำการทดลองในตัวอย่างแป้งที่ดิฉันได้เตรียมมาจากประเทศไทย เนื่องจากเป็นห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับอาหาร สารเคมีบางอย่างที่ดิฉันจำเป็นต้องใช้ในการผลิตโลชั่นจะถูกเตรียมมาจากประเทศไทยเช่นเดียวกับตัวอย่างแป้ง การทำแลปของดิฉันค่อนข้างราบรื่น แต่ดำเนินไปอย่างช้าช้า เพราะในการรันตัวอย่างแต่ละตัวอย่างนั้นค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร ตัวอย่างละ 2 ชั่วโมง และต้องทำซ้ำ ซึ่งห้องปฏิบัติการจะมีเวลาเปิด-ปิด ไม่สามารถทำค้างไว้ได้ในแต่ละวัน แต่โชคดีที่ดิฉันได้ทำแลปในช่วงปิดเทอม ไม่ค่อยมีนักศึกษาใช้ห้องแลป แต่ปัญหาเริ่มเกิดตอนช่วงเปิดเทอม ดิฉันสามารถรันตัวอย่างได้ช้าลงไปอีก แต่ก็สามารถทำเสร็จทันเวลาและนำผลการทดลองกลับมาแปรผลและสรุปผลต่อที่ประเทศไทย สำหรับดิฉันการได้ไปทำวิจัยยังต่างประเทศนับเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ ได้ใช้เวลาในการทำวิจัยอย่างจริงจัง ได้เห็นบรรยากาศของการทำงานวิจัยของชาวเนเธอร์แลนด์ ดิฉันได้มีโอกาสเข้าไปฟังการนำเสนอความก้าวหน้างานวิจัย และการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท-เอก นอกจากนี้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ห้องปฏิบัติการที่ดิฉันไปก็มีให้ใช้อย่างเพียงพอ ไม่เพียงแต่ได้รับประสบการณ์ในการทำวิจัยเท่านั้น แต่ยังได้ประสบการณ์ชีวิตอีกด้วย ถือเป็นโอกาสอันสำคัญของชีวิตตัวเอง

10 04

Carbohydrate Technology
Division of Biochemical Technology School of Bioresources and Technology,
King Mongkut’s University of Technology Thonburi (Bangkuntien)
49 Soi Thian Thale 25, Bang Khun Thian Chai Thale Road,
Tha Kham, Bang Khun Thian, Bangkok 10150, Thailand